Web3 คืออะไร และโลกอินเทอร์เน็ตในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร พร้อมกับอธิบายเรื่อง Universal Message Passing ของ Axelar ที่เป็นหนึ่งใน “ตัวเปลี่ยนเกมสำคัญ” ที่จะทำให้โลกอินเทอร์เน็ตวันพรุ่งนี้เปลี่ยนไปตลอดกาล

Web3 คืออะไร? ขอแบบสั้นๆ

หลายคนคงอาจจะเคยฟังจนเบื่อแล้วว่า Web1–2–3 คืออะไร แต่ก็ขออธิบายแบบกระชับ เข้าใจง่าย เพื่อให้เรามองเห็นภาพได้ตรงกัน

Web1 คือเว็บรุ่นบุกเบิกมีไว้ให้แค่ให้คนมาอ่านข้อมูล ส่วน Web2 คือเว็บในยุคถัดมาที่มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ Google, Wikipedia หรือจะเป็นเว็บแนวโซเชียลมีเดียในยุคนี้ เช่น Facebook, Youtube, Tiktok ฯลฯ ผลกำไรที่แพลตฟอร์มได้รับ รวมถึงข้อมูลของผู้ใช้ซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้ก็จะตกอยู่กับบริษัทผู้พัฒนา เราจึงเรียกว่าเว็บไซต์ที่มีตัวกลางหรือ Centralized Web กล่าวคือถ้ามีใครก็ตามปิดเซิร์ฟเวอร์ของผู้พัฒนาเว็บไซต์ ทุกอย่างก็จบลงทันที

แต่ Web3 จะเป็นรูปแบบของเว็บไซต์ที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Web) ตามนิยามคือจะไม่มีการดูแลและควบคุมโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ข้อมูลการใช้งานจะอยู่ในมือของผู้ใช้งานเท่านั้น ผู้ใช้งานมีสิทธิ์มีเสียงในทิศทางการพัฒนาเหมือนเป็นหนึ่งในเจ้าของแพลตฟอร์ม มีการได้รับการแบ่งปันผลกำไรถ้าหากแพลตฟอร์มมีรายได้เกิดขึ้น เพราะทุกคนที่ใช้งานต่างมีสถานะของความเป็นเจ้าของหรือ Ownership ร่วมกัน นิยามของ Web3 จะมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ

  • Open: แพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นมาต้องเปิดเผยซอสโค้ด เข้าถึงได้และเป็นสาธารณะ
  • Trustless: เปลี่ยนจากเชื่อใจคนกลาง มาเป็นโค้ดและกลไกการตกลงระหว่างคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย
  • Permissionless: ไม่ต้องอนุญาตใครและไม่ต้องรอใครอนุมัติ เราสามารถมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มได้เลย

การล็อกอินด้วยชื่อจริง-อีเมล จะไม่มีอยู่ในโลกของ Web3 แต่จะใช้การเชื่อมต่อโดยใช้การยืนยันอัตลักษณ์แบบไร้ศูนย์กลางหรือการใช้เทคโนโลยีของ Blockchain นั่นเอง โดยปัจจุบันนี้ วิธีที่คนส่วนใหญ่นิยมกัน คือการใช้กระเป๋าดิจิทัล อย่างเช่น Metamask, Phantom, Kelpr หรือ Hardware Wallet เป็นวิธีในการยืนยันตัวตนเพื่อการยืนยันการเข้าถึงสินทรัพย์และข้อมูลของตนเอง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตกับโลกแห่งความเป็นจริงถูกตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เป็นเพียงยุคเริ่มต้นของ Web3 เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องเฉพาะในส่วนของคริปโตเคอเรนซี่และบริการทางการเงิน ในอนาคตจะขยายไปทุกวงการ เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง การแพทย์ รถยนต์ การเกษตร ไปจนถึงการบริหารจัดการเมือง ฯลฯ ในวันนี้ Web3 จึงเหมือนอยู่กับระหว่างการตั้งไข่ ค้นหามาตรฐานที่เหมาะสมเพื่อให้วันพรุ่งนี้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน

เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังของ Web3

Decentralization หรือ “การไร้ตัวกลาง” คือหัวใจหลักของ Web3 ข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตจะไม่ได้ถูกเก็บไว้ที่ตัวกลางโดยคนเดียว แต่จะเป็นการเก็บข้อมูลแบบกระจายไปตาม Node ต่างๆ เปรียบเทียบเหมือนการเก็บข้อมูลไว้ที่หลายๆ เซิร์ฟเวอร์ โดยในแต่ละ Node จะมีการตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันให้ตรงกันเสมอ ทำให้ปลอดภัยต่อการโกง-ปลอมแปลงหรือแฮกข้อมูล ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain นี้เองที่ดูจะมีความเป็นไปได้สูงมากในการทำให้แนวคิดของ Web3 เกิดขึ้นได้จริง

เทคโนโลยีของ Bitcoin ที่ใช้บล็อกเชนในการเก็บข้อมูลธุรกรรมการเงินทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนเครือข่าย ได้ถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นมากลายเป็น Ethereum ในปี 2013 ซึ่งเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่สามารถใช้เทคโนโลยี Smart Contract หรือการสร้างข้อตกลงในการดำเนินการใดๆ ได้ด้วยตัวเองเมื่อถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เปรียบเสมือนกับการเขียนโปรแกรมให้ทำงานได้บนบล็อกเชนนั่นเอง

ความสามารถของ Smart contract บนบล็อกเชนของ Ethereum ทำให้เกิดผู้พัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ หรือ dApp (Decentralized Application) โดยประเภทของ dApp ที่พวกเราคุ้นเคยกันมากที่สุดคือ DeFi (Decentralized Finance) ที่เปรียบเสมือนการสร้างธนาคารมาไว้อยู่บนอินเทอร์เน็ต มีบริการฝาก-ถอน กู้ยืมเงิน การค้ำประกันต่างๆ เปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้ามาใช้งานได้

การที่แนวคิด Web3 จะถูกแผ่ขยายครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม นอกเหนือจากการเงินการธนาคาร ยังต้องอาศัยการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เครือข่ายสามารถรองรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ในปริมาณมากและรับส่งข้อมูลได้รวดเร็ว แต่ยังคงความปลอดภัยของข้อมูลและสินทรัพย์ของผู้ใช้งานได้อย่างดี

เมื่อเชนเดียวไม่ใช่คำตอบ

เมื่อความนิยมของ Ethereum เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจาก DeFi และ NFT (Non-Fungible Token) ส่งผลให้เกิดจำนวนการทำงานบนเครือข่าย Ethereum มากขึ้น เทคโนโลยีที่วางไว้ช่วงแรกเริ่มไม่ตอบโจทย์ในส่วนของ Scalability ประสิทธิภาพการทำงานช้าลง และมีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่อครั้ง (Gas) ที่แพงขึ้น

สิ่งนี้ทำให้นักพัฒนาบล็อกเชนบางส่วนเริ่มมีการแยกตัวออกมาจากทีม Ethereum เพื่อมาสร้างโครงสร้างเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Polkadot, Cardano หรือเกิดทีมผู้พัฒนารุ่นใหม่อย่าง Cosmos, BNB Chain, Avalanche, Solana, Terra Chain และอื่นๆ โดยในแต่ละเชนต่างก็ชูจุดขายของตัวเอง เช่น จุดขายด้านค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ความรวดเร็วของธุรกรรมที่มากขึ้น มีการดึงดูด dApp, ผู้พัฒนาเกมและ NFT ต่างๆ เข้ามาบนเครือข่าย จนบางเชนเริ่มครองความนิยม ตีตื้นสัดส่วนเดิมที่ถูกถือครองโดย Ethereum มากขึ้นเรื่อยๆ

Blockchain Trilemma จะเห็นว่า Ethereum วางอยู่ในส่วนของ Security และ Decentralization ซึ่งทำให้ขาดในเรื่องของ Scalability (ประสิทธิภาพในการขยายการทำงานของระบบ)

แต่แล้วปัญหาใหม่จากการที่มีหลายเชนก็เกิดขึ้น นั่นคือความไม่สะดวกในการใช้งาน ปัญหาที่เจอได้บ่อยๆ คือผู้ใช้มีสินทรัพย์อยู่บนกระเป๋าของเชนหนึ่ง แต่อยากจะย้ายมันมาอีกเชนหนึ่งจะไม่สามารถทำได้โดยง่าย จนเกิดคำศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Blockchain interoperability’ ซึ่งความหมายก็คือความพยายามที่จะทำให้การทำงานข้ามบล็อกเชนเป็นไปได้ เช่น การโอนสินทรัพย์หนึ่ง จากเชน A โอนไปยังเชน B เป็นต้น

โดยปัจจุบันวิธีที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกัน คือการใช้วิธีโอนสินทรัพย์แล้วไปแปลง หรือเอาไปขายผ่านตลาดเทรดคริปโต แล้วค่อยโอนสินทรัพย์นั้นเข้าไปที่เชนปลายทาง หรืออีกวิธีคือการใช้วิธี bridge (การแปลงสินทรัพย์ข้ามเครือข่าย) ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ส่งผลต่อ User Adoption หรือ การยอมรับการใช้งานของผู้ใช้ทั่วไป ทำให้อุตสาหกรรมบล็อกเชนและคริปโตเคอเรนซี่ไม่สามารถเติบโตได้เร็วอย่างที่ควรเป็น

มีความพยายามสร้างกลไกที่เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ก็คือแนวคิดที่เรียกว่า Cross-Chain ซึ่งจะเป็นเหมือนตัวกลางทำหน้าที่คอยเชื่อมธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างบล็อกเชนที่แตกต่างกันให้สามารถทำงานร่วมกันได้ นักพัฒนา dApp ต่างๆ สามารถที่จะนำกลไกนี้ไปใช้งานบนแอปพลิเคชั่นของตนเอง โดยผู้ใช้งานไม่ต้องมีความรู้มากมาย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ผู้ใช้งานเกิดประสบการณ์ที่ดีกับโลกของ Web3

แพลตฟอร์มที่ใช้แนวคิดของ Cross-chain ปัจจุบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ Nomad, LayerZero, Wormhole, Gravity Bridge และแน่นอนโปรเจกต์หลักที่เราจะพูดถึงในวันนี้ นั่นคือ Axelar Network

Axelar คือตัวเปลี่ยนเกม

Axelar คือเครือข่ายบล็อกเชนที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นเครือข่ายสากลสำหรับทุกบล็อกเชน ผู้พัฒนา dApp สามารถเอา Axelar ไปเชื่อมต่อในแอพของตัวเอง ทำให้สามารถโอนย้ายสินทรัพย์และสื่อสารข้อมูลระหว่างบล็อคเชนต่างๆ แอปพลิเคชั่น และสินทรัพย์ของผู้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย

คำว่า “ปลอดภัย” ในที่นี้ ไม่ใช่คำที่ยกขึ้นอย่างลอยๆ แต่ Axelar เลือกใช้กลไกการทำงานแบบ DPoS หรือ Delegated Proof of Stake ซึ่งเป็นกลไกการทำงานที่ได้รับความนิยมและผ่านการพิสูจน์มาพอสมควรว่ามีความปลอดภัย โดย Validator Node ที่จะเข้ามาร่วมกันตรวจสอบธุรกรรมก็มาจากหลายแหล่ง ทีมงานคัดกรองแล้วว่าเชื่อถือได้ ทำให้ Axelar ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัย ได้รับความไว้วางใจจากนักพัฒนาด้านบล็อกเชนที่มีชื่อเสียง

เป้าหมายสูงสุดของ Axelar คือต้องการสร้างประสบการณ์ใช้งานแบบ 1-click คือการใช้งานที่ง่ายและสะดวกที่สุด ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสินทรัพย์บน dApp ที่อยู่เชนใดๆ ก็ได้เพียงคลิกเดียว

ในด้านการขยายตัวของเครือข่าย Axelar ใช้การเชื่อมต่อข้อมูลแบบ any-to-any ดังนั้นเมื่อมีบล็อคเชนที่ต้องการมาเชื่อมต่อกับ Axelar ก็จะสามารถเข้ามาร่วมและเริ่มทำงานได้ทันที ทำให้เครือข่ายของ Axelar สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง ไม่เกิดปัญหาคอขวดที่ส่วนกลาง

ไม่ใช่แค่ส่งสินทรัพย์ข้ามเชน แต่เป็นได้มากกว่า

การใช้งาน cross-chain bridge โดยส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคย คือการใช้มันในฐานะของเครื่องมือสำหรับการส่งสินทรัพย์ข้ามเชน เช่น การส่งโทเค็น USDC จาก BNB Chain ไปที่เชน Ethereum แต่หากเราต้องการก้าวข้ามความสามารถของบล็อกเชนในฐานะเครื่องมือทางการเงิน แต่ยกระดับไปใช้กับอุตสาหกรรมในด้านอื่นๆ การส่งข้อมูลข้ามเชนได้คือสิ่งที่จำเป็น และมันต้องถูกพัฒนาให้ใช้งานได้ง่าย เหมือนกับการใช้ API บนโปรโตคอล HTTP ในปัจจุบัน

โดย Axelar ก็เห็นถึงความสำคัญส่วนนี้จึงได้มีการเปิดตัวฟีเจอร์ ‘General Message Passing’ (GMP) ซึ่งหลักการทำงานคือการที่ผู้พัฒนา dApp ต่างๆ สามารถเขียนและส่งคำสั่งหรือข้อความไปที่เชนปลายทางได้ โดยจะเลือกส่งแบบแนบหรือไม่แนบโทเค็นด้วยก็สามารถทำได้ สิ่งนี้ทำให้เกิดการสื่อสารทางข้อมูลระหว่าง dApp ที่อยู่กันคนละเชน ไม่จำกัดเฉพาะเพียงการส่งแค่โทเค็นอีกต่อไป

ประโยชน์ของ GMP ทำให้เปิดความสามารถใหม่ๆ บนโลกของบล็อกเชน เช่น การสร้างแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT แบบรวมทุกเชนเข้าไว้ด้วยกัน สามารถซื้อขายโดยใช้โทเค็นใดๆ ก็ได้อย่างอิสระ, ระบบค้ำประกัน NFT เพื่อกู้ยืมเป็นสินทรัพย์ที่อยู่กันคนละเชน, การเรียกข้อมูลจากแอพที่อยู่บนคนละเชนเพื่อมาใช้ประมวลผลทางราคาหรือค่าธรรมเนียม, การเป็นตัวกลางถือสินทรัพย์ในขั้นตอนส่งมอบแบบ P2P ข้ามเชน ฯลฯ

เทียบความสามารถกับคู่แข่ง

โปรเจกต์ Cross-chain bridge ส่วนใหญ่ มักจะอยู่ในรูปแบบการเป็น bridge แบบมีตัวกลางและใช้เทคโลยี Multi-signature (เปรียบเหมือนการรวมทรัพย์สินอยู่ในบัญชีกลาง โดยหากจะมีการทำธุรกรรมต้องใช้หลายคนในการเซ็นอนุมัติ) ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากการถูกโจมตีสูง หากแฮกเกอร์สามารถหาช่องโหว่เพื่อลักลอบการยืนยันธุรกรรมตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ได้ อย่างเช่นในเคสล่าสุดที่เกิดกับโปรเจกต์ Ronin Protocol ที่ต้องสูญเสียเงินไปกว่า $620 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากการโจมตีหลักซึ่งเกิดขึ้นบน 4 ใน 9 node โดยทั้ง 4 ต่างเป็น node ที่ถูกดูแลโดยองค์กรเดียวกัน

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทาง Axelar จึงไม่ได้เลือกใช้กลไก Multisig เพราะมีความกังวลในส่วนของความปลอดภัยจากการโจมตีจากเหล่าแฮกเกอร์ และได้เลือกใช้เป็นกลไก DPoS (Delegated Proof of Stake) หรือ การที่มี validator เป็นตัวแทนจำนวนหนึ่งในการร่วมกันตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราขอเปรียบเทียบ Axelar กับโปรเจกต์ต่างๆ โดยยก 3 โปรเจกต์ Cross-chain มาแรงที่รองรับคุณสมบัติเทียบเคียงกับ General Message Passing ได้แก่ Nomad, LayerZero และ Wormhole

รู้จัก Nomad

โปรเจกต์ Nomad ชูชุดเด่นด้านความปลอดภัยและค่าธรรมเนียมที่ถูก เพราะใช้กลไกการยืนยันธุรกรรมแบบ Optimistic ซึ่งเป็นโมเดลแบบ 1-of-N fraud-proof trust หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือในบรรดาผู้ตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในห้วงเวลา 30 นาที หากมีแม้แต่ผู้ตรวจสอบรายเดียวที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าธุรกรรมนี้มีปัญหา ธุรกรรมดังกล่าวก็จะถูกปฎิเสธ ซึ่งข้อนี้เองที่ทำให้ Nomad มีจุดเด่นในแง่ของความปลอดภัย เพราะผู้ตรวจสอบทั้งหมดในขณะที่เกิดธุรกรรมขึ้น ไม่สามารถนัดหมายหรือฮั้วกันได้ว่าจะมีผู้ตรวจสอบรายใดที่เข้ามาร่วมตรวจสอบบ้าง

แต่ในจุดเด่นนั้นก็เป็นจุดอ่อนที่สำคัญ คือมันต้องแลกมากับการสูญเสียคุณสมบัติ Liveness (การให้ความมั่นใจได้ว่าสินทรัพย์หรือข้อมูลจะถูกส่งไปที่ปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ-ไม่เกิดปัญหา) เพราะวิธีนี้ต้องมีการรอระยะเวลาในการตรวจสอบธุรกรรม และหากเครือข่ายล่มไปในเวลาที่อยู่ระหว่างตรวจสอบธุรกรรม อาจเกิดความเสี่ยงที่ทรัพย์สินและข้อมูลของผู้ใช้จะสูญหายไปได้

รู้จัก LayerZero

โปรเจกต์ LayerZero มีการทำงานที่ค่อนข้างแปลก คือใช้การทำงานแยกส่วนในการตรวจสอบและได้รับการอนุมัติการทำธุรกรรมจากทั้ง 2 ขา ขาหนึ่งเป็นการตรวจสอบในส่วนของ Relayers (จัดการโดย LayerZero Labs) และอีกขาหนึ่งคือใช้ระบบ Oracles ในการตรวจสอบด้วย Multisig เพียง 2 ใน 3 โดยผู้ดูแล node คือ Industry TSS Oracle ประกอบด้วย FTX, Polygon, Sequoia

โครงสร้างนี้ทำให้ LayerZero ถูกนักพัฒนาบล็อกเชนหลายคนตั้งคำถามถึงความ Permissionless และ Decentralize ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในโลก Web3 และบล็อกเชน เพราะทั้งบริษัท FTX, Polygon และ Sequoia ต่างเป็นผู้ลงทุนในโปรเจกต์ LayerZero ซึ่งอาจเกิดปัญหาในแง่ของการมีส่วนได้ส่วนเสียและความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งมีลักษณะกึ่งรวมศูนย์

รู้จัก Wormhole

โปรเจกต์ Wormhole ใช้กลไก Multisig ที่ต้องได้รับการอนุมัติจาก 10 ใน 19 node ซึ่งหากมีการจัดการด้านความปลอดภัยที่ไม่ดีก็อาจเกิดปัญหาอย่างที่กล่าวไปตอนต้น รวมถึง node ของ Wormhole มีลักษณะแบบปิด คือคนทั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งมีผลต่อความ Decentralize

เปรียบเทียบกับ Axelar

เมื่อเทียบทั้ง 3 โปรเจกต์ cross-chain จะพบว่า Axelar มีความพิเศษเฉพาะที่ต่างออกไป เพราะใช้การวางโครงสร้างอยู่บน Cosmos Hub ซึ่งคือการให้ validator เข้ามาอยู่บนเชนตรงกลาง ผ่านกลไก Delegated Proof-of-Stake (DPoS) โดยเมื่อ validator ตรวจสอบธุรกรรมได้ถูกต้องและครบตามจำนวนก็จะสามารถอนุมัติธุรกรรมได้ทันที ทำให้มีความรวดเร็วในการทำธุรกรรม และทาง Axelar ยังได้คัดเลือก validator ซึ่งมีที่มาจากหลายแหล่ง ไม่มีลักษณะของการกระจุกตัวโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พร้อมเปิดให้ validator รายใหม่ๆ สามารถมาเข้าร่วมได้ในอนาคต อีกทั้งยังมีบทลงโทษที่ชัดเจน หาก validator รายใดๆ ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่ทาง Axelar วางไว้ได้ ส่งผลให้เครือข่ายมีความปลอดภัยและคอยตรวจสอบกันเองอยู่เสมอ

โลก Web3 ในอนาคตกับบทบาทของ Axelar

ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ มีแพลตฟอร์มร้านค้ารายใหญ่ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย การสื่อสารข้ามซีกโลกไม่ได้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป จนเรียกว่าปัจจุบันแทบจะไม่มีพรมแดนของรัฐชาติ เกิดความท้าทายใหม่ต่อบทบาทของรัฐบาลและผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจในโลกแบบดั้งเดิม เราจึงเริ่มเห็นแนวโน้มความพยายามเข้ามาแทรกแซงหรือชะลอเพื่อให้การเติบโตเป็นไปได้ช้าลงในหลายประเทศ

แนวโน้ม Web3 จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่ต้องการสร้างฉันทามติใหม่ของสังคม เป็นความต้องการที่จะสร้างอินเทอร์เน็ตที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สร้างโอกาสให้คนธรรมดาเข้าถึงโอกาสต่างๆ ผ่านการปฏิวัติโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ธุรกรรมทางการเงิน ฯลฯ ส่งผลให้เทคโนโลยีด้านการเชื่อมต่อ เช่น เทคโนโลยี Internet of Things (IoT), Artificial Intelligence (AI) และ Blockchain คือสิ่งที่มีความจำเป็นและเป็นรากฐานสำคัญของ Web3

Source: medium.com/@Matzago/4276bf488a4b

ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ การจัดการด้านข้อมูลและสินทรัพย์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปริมาณการไหลเวียนของข้อมูลที่มีอยู่มหาศาล บทบาทของผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมการสื่อสารระหว่างเชนอย่าง Axelar จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในโลกของบล็อกเชน ด้วยจุดเด่นของทีมผู้พัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญ มีกลไกของการรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการทดสอบมาอย่างดี เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนา และแน่นอนที่สุดคือไม่ว่าใครก็ไม่มีทางที่จะปิดกั้นข้อมูลและความต้องการในการสื่อสารได้

ศึกษา Axelar ต่อได้ที่

  • Understand how secure cross-chain is with trust model. Learn how different cross-chain use different trust assumptions.

    Continue reading
  • DeFi made easy on Cosmos with Crescent Network. Learn how Crescent Network works, a DeFi module built by Cosmos SDK.

    Continue reading
  • Learn how low gas fees EVM chain Polygon works, and understand its ecosystem.

    Continue reading
  • Understand how secure cross-chain is with trust model. Learn how different cross-chain use different trust assumptions.

    Continue reading
  • DeFi made easy on Cosmos with Crescent Network. Learn how Crescent Network works, a DeFi module built by Cosmos SDK.

    Continue reading